การรักษา
1.หากสงสัย เช่น มีอาการไอมีเสมหะเรื้อรัง หรือหอบเหนื่อยง่าย และมีประวัติสูบบุหรี่จัด หรือสัมผัสมลพิษทางอากาศมานาน ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อการตรวจวินิจฉัย โดยการเอกเรย์ปอด ตรวจเสมหะ ทำการวัดปริมาตรอากาศหายใจ (spirometry) เพื่อประเมินสมรรถภาพของปอด* ในรายที่เป็นระยะรุนแรงอาจทำการตรวจเลือดประเมินภาวะเม็ดเลือดแดงมาก (polycythemia) ซึ่งอาจพบในผู้ป่วยบางราย ตรวจระดับออกซิเจนในเลือด (ซึ่งจะต่ำกว่าปกติตั้งแต่ระยะแรก ๆ) และคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด (ซึ่งจะสูงกว่าปกติในระยะต่อมา) ตรวจคลื่นหัวใจ เป็นต้น ในรายที่อายุต่ำกว่า 40 ปีอาจตรวจหาระดับสารต้านทริปซินในเลือด
การรักษา มีแนวทางการดูแลรักษาโดยหลัก ๆ ดังนี้
- แนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด และหลีกเลี่ยงมลพิษในอากาศ ดื่มน้ำมาก ๆ (วันละ 10-15 แก้ว) เพื่อช่วยขับเสมหะ
- ให้ยาบรรเทาตามอาการ เช่น ถ้ามีเสียงวี้ด(wheezing) ให้ยาขยายหลอดลม กลุ่มยากระตุ้นบีตา 2 หรือไอพราโรเพียมโบรไมด์ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือใช้ร่วมกัน ถ้ามีอาการหอบตอนดึก อาจให้ขาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว ในรายที่เป็นรุนแรงมักจะให้สตีรอยด์ ชนิดสูดร่วมกับยาช้างต้น
- ถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่นมีไข้หรือมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ก็จะให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน ร็อกซิโทรไมซิน ดอกซีไซคลีน หรือโคไตรม็อกซาโซล นาน 7-10 วัน
2. ในรายที่มีอาการหายใจหอบรุนแรง หรือสงสัยเป็นปอดอักเสบ ปอดทะลุ หรือภาวะหัวใจวาย ควรส่งโรงพยาบาลด่วน มักจะต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบอาจต้องให้ออกซิเจน ใส่ท่อหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจ
ผลการรักษา ขึ้นกับระยะและความรุนแรงของโรค ถ้าเป็นระยะแรก (FEV
1 > 50% ของค่ามาตรฐานและผู้ป่วยสามารถเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาด ก็มักจะได้ผลดีโรคจะไม่ลุกลามรุนแรงมากขึ้น แต่ถ้าปล่อยให้ลุกลามจนถึงระยะรุนแรง (สมรรถภาพของปอดลดลงอย่างมากแล้ว คือ FEV1 < 30% ของค่ามาตรฐาน) ก็มักจะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน (เช่น ภาวการณ์หายใจล้มเหลวปอดอักเสบ ปอดทะลุ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด เป็นต้น) ภายใน 1–5 ปี โดยเฉลี่ยผู้ป่วยทุกระดับของความรุนแรงมีอัตราตายมากกว่าร้อยละ 50ใน 10 ปีหลังจากที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรก
การป้องกัน
1. ที่สำคัญ คือ การไม่สูบบุหรี่
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีมลพิษในอากาศ
3. หลีกเลี่ยงการใช้ฟืนก่อไฟภายในบ้านที่ขาดการถ่ายเทอากาศ
4. ถ้าเป็นโรคหลอดลมอักเสบและโรคหืด ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง
Ambulance call
1669
Available 24 Hours
Are you five-star healthcare provider?
list your practice
to reach million of patient