เป็นลม (Syncope/Fainting)
คำว่า
เป็นลม ในที่นี้หมายถึงอาการที่อยู่ๆ ก็หมดสติทรุดลงกับพื้น ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและเป็นอยู่ชั่วประเดี๋ยวเดียวก็กลับฟื้นคืนสติได้เอง ทั้งนี้เนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงเซลล์สมองน้อยลงชั่วขณะ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทและระบบไหลเวียนโลหิตจากสาเหตุต่าง ๆ
เป็นลมเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทุกวัย และจะพบบ่อยขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ถ้าพบในคนอายุต่ำกว่า 3 ปี มักมีสาเหตุที่ไม่รุนแรง แต่ถ้าพบในผู้สูงอายุก็มีโอกาสเกิดสาเหตุที่รุนแรงได้
สาเหตุ
อาการเป็นลมอาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายๆ สาเหตุร่วมกัน ดังต่อไปนี้
1.กลุ่มที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความตึงตัวของหลอดเลือด (vascular tone
) หรือปริมาตรเลือด (blood volume) ได้แก่
ก. เป็นลมจากหลอดเลือดและประสารทเวกัส (vasovagal syncope หรือ neurocardiogenic syncope) พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของการเป็นลมทั้งหมดและเป็นภาวะที่ไม่รุนแรง จึงมีชื่อเรียกแต่เดิมว่า
เป็นลมธรรมดา (common faint) มักเกิดกับวัยหนุ่มสาว แต่ก็อาจพบได้ในทุกวัย ผู้ป่วยจะเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว มักเกิดอาการเป็นลมขณะอยู่ในท่ายืน มักมีเหตุกระตุ้น เช่น อยู่ในฝูงชนแออัด อากาศร้อนอบอ้าว หรืออยู่กลางแดดที่ร้อนจัดร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า อดนอน หิวข้าว หรือยืนนานๆ มีความ รู้สึกเจ็บปวดรุนแรง มีความรู้สึกตื่นเต้น ตกใจ กลัว หรือเสียใจอย่างกะทันหัน หรือเห็นเลือดแล้วรู้สึกกลัว เป็นต้น ส่งผลให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยา ทำให้หลอดเลือดทั่วร่างกายขยาย เลือดคั่งอยู่ตามส่วนต่างๆ จึงมีเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง
ข.เป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง (situational syncope) ชักนำให้เกิดปฏิกิริยาแบบเดียวกับ ก.ทำให้มีอาการเป็นลมทันทีขณะมีกิริยานั้นๆ ตัวอย่างเช่น
- ขณะไอรุนแรง มักพบในคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
- ขณะกลืนอาหาร มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับคอหอย หรือหลอดอาหาร
- ขณะถ่ายปัสสาวะ หลังจากมีปัสสาวะเต็ม กระเพาะ (ปวดถ่ายสุดๆ) พบบ่อยในผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด
- ขณะถ่ายอุจจาระ ในคนที่ท้องผูก หรือมีการแบ่งแรง ๆ
- ขณะหันคอ โกนหนวดด้วยเครื่องไฟฟ้าหรือใส่เสื้อรัดคอ พบในผู้สูงอายุที่มีความไวของคาโรติดไซนัส (carotid sinus hypersensitivity)
ค เป็นลมจากความดันตกในท่ายืน (pos tural syncope) ผู้ป่วยจะรู้สึกเป็นปกติดีขณะอยู่ในท่านอนราบ แต่เมื่อลุกขึ้นยืนจะมีความดันเลือดลดลง จนเลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลงทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมทันที มักพบในผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือ โรคพิษสุราเรื้อรัง
ผู้ที่กินยารักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะตกเลือด (เช่น มีเลือดออก ถ่ายอุจจาระดำ ประจำเดือนออกมาก) หรือมีภาวะขาดน้ำ (เช่น ท้องเดิน อาเจียน มีไข้สูง) ดูเพิ่มเติมใน
2.กลุ่มที่เกิดจากความผิดปกติของหัวใจ (cardiovascular disorders) ส่งผลให้หัวใจสูบฉีดไม่ได้เต็มที่เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง เกิดอาการเป็นลม เรียกว่า
เป็นลมจากโรคหัวใจ (cardiac syncope) อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเต้นช้าหรือเร็ว หรือจังหวะไม่สม่ำเสมอโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ภาวะหัวใจวาย
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ cardiomyopathy)
- โรคลิ้นหัวใจตีบ (aortic stenosis‚ mitral stenosis)
- ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด ทำให้เกิดภาวะหัวใจวายตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการเป็นลม
3. กลุ่มที่เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง (cerebrovascular disorders) เช่น หลอดเลือดสมองตีบตัน หรือแตกทำให้เซลล์สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดอาการเป็นลม เรียกว่า
เป็นลมจากโรคสมอง (neurologic syncope) สาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่ หลอดเลือดแดง vertebrovascular artery ขาดเลือด (vertebrovzscular insufficiency)โรคไมเกรน ที่มีการตีบของหลอดเลือดแดง basilary artery
ชั่วขณะ
4. กลุ่มโรคที่หมดสติชั่วขณะคล้ายอาการเป็นลม มีอาการหมดสติที่ไม่เกี่ยวกับเซลล์สมองขาดเลือด แต่เกี่ยวกับสาเหตุอื่นๆ เช่น
อาการชัก เช่น โรคลมชัก ขณะชักจะมีอาการหมดสติชั่วขณะ
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งอาจมีอากรเป็นลมชั่วขณะแล้วฟื้นสติได้เอง แต่บางคนก็หมดสติไปเลย
- ภาวะซีด
- โรคทางจิตประสาท เช่น โรคกังวล โรคซึมเศร้า กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน เป็นต้น อาจมีอาการเป็นลมแน่นิ่งชั่วขณะร่วมด้วย
5.กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ บางรายอาจมีอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุชัดเจน
การรักษา
จำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุ โดยการซักประวัติตรวจร่างกาย และอาจต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด (ดูภาวะซีด ระดับน้ำตาลในเลือด อิเล็กโทรไลต์ในเลือด เป็นต้น) คลื่นหัวใจ เอกซเรย์ปอด เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นต้น
ในรายที่มีอาการเป็นลมซ้ำซาก โดยหาสาเหตุไม่ได้ชัดเจน อาจทำการทดสอบที่เรียกว่า “Head-up tilt table test” (โดยใช้โต๊ะตรวจเฉพาะ จัดผู้ป่วยยืนทำมุม 70 องศานาน 45 นาที เพื่อกระตุ้นให้เกิดอาการเป็นลม) ซึ่งจะช่วยวินิจฉัยอาการเป็นลมจากหลอดเลือดและประสารทเวกัส (vasovagal syncope)
การรักษา แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่พบดังนี้
1.ถ้าเป็นลมธรรมดา ควรแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัวดังนี้
ก.หลีกเลี่ยงเหตุกระตุ้น เช่น การอยู่ในฝูงชนแออัด อากาศร้อน การออกกลางแดด การยืนนานๆ การอดนอน เป็นต้น
ข. หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เครียด ตื่นเต้นตกใจกลัว เช่น การเจาะเลือดขณะอยู่ในท่านั่งหรือยืนการเห็นเลือดอาการ เจ็บปวด เรื่องน่ากลัวหรือน่าตื่นเต้นเป็นต้น
ค.เมื่อมีอาการเตือน (เช่น ศีรษะเบาหวิว ตัวโคลงเคลง คลื่นไส้) ให้รีบนอนลงหรือนั่งบนเก้าอี้แล้ว ก้มศีรษะลงซุกอยู่
ระหว่างหัวเข่า 2 ข้างเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นลมหมดสติ
ง.สำหรับผู้ที่เป็นลมบ่อย แพทย์อาจพิจารณาให้ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้
- ยากลุ่มปิดกั้นบีตา เช่น อะทีโนลอล 25-50 มก.วันละ 1 ครั้ง หรือเมโทโพรลอล (metoprolo) 25-50 มก วันละ 2 ครั้ง
- ยากลุ่ม mineralocorticoid เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน (fludrocortisone) 0.1-0.2 มก.วันละ 1 ครั้ง
- ยาหดหลอดเลือด(vasoconstrictor) เช่น เอฟีดรีน (ephedrine) 15-30 มก. หรือไม่โดดรีน (mi-dodrine) 2.5-10 มก.วันละ 3 ครั้ง
- ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors เช่น ฟลูออกซีทีน 20 มก.วันละ 1 ครั้ง หรือเซอร์ทราลีน (sertraline) 25-50 มก.วันละ 1 ครั้ง
2.ถ้าเป็นลมจากอากัปกิริยาบางอย่าง ก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงหรือควบคุมอากัปกิริยาที่เป็นสาเหตุ เช่น การไอ การเบ่งถ่าย เป็นต้น ถ้าเกิดจากความไวของคาไรติดไซนัสก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อหรือเน็กไทรัดคอ ใช้มีดโกนไฟฟ้าแทนมีดโกนธรรมดา
3. ถ้าเป็นลมจากความดันตกในท่ายืน ก็แก้ไข ตามสาเหตุ เช่น ภาวะขาดน้ำหรือเสียเลือด ก็ได้น้ำเกลือหรือให้เลือด หากเกิดจากยาก็ปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมเป็นต้น ควรแนะนำให้ผู้ป่วยลุกขึ้นช้าๆ จากท่านอนเป็นท่านั่ง แล้วจากท่านั่งจึงค่อยๆ ลุกขึ้นยืน การขยับขาก่อนลุกขึ้น ก็อาจทำให้เกิดอาการน้อยลง (เนื่องเพราะสามารถเพิ่มปริมาตรเลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้) นอกจากนี้ การนอนศีรษะสูงหรือใช้ถุงรัดน่อง (compression stocking) ก็อาจมีส่วนช่วยลดอาการได้ ในรายที่มีอาการบ่อยๆ แพทย์อาจพิจารณาให้ยา เช่น ฟลูโดรคอร์ติโซน(fludrocortisone)เอฟีดรีน หรือไมโดดรีน (midodrine)
4.ถ้าเป็นลมจากโรคหัวใจหรือโรคสมอง อาจจำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาให้ยารักษาหรือผ่าตัด แก้ไข ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง มิเช่นนั้นอาจมีโอกาสตายหรือพิการได้
Ambulance call
1669
Available 24 Hours
Are you five-star healthcare provider?
list your practice
to reach million of patient