ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ข้อเข่าเสื่อม
ข้อเสื่อมเป็นภาวการณ์สึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่บุอยู่บนผิวข้อต่อกระดูก ซึ่งมักทำให้เกิดอาการปวดข้อ ข้อแข็งและเคลื่อนไหวได้น้อยลง จัดว่าเป็นโรคข้อเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยที่สุดในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ
ข้อที่เสื่อมได้บ่อย ได้แก่ ข้อนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว และข้อกระดูกสันหลังส่วนคอ
จากการถ่ายภาพรังสี พบว่า ประชากรที่มีอายุมาก กว่า 65 ปี มีภาวะข้อเสื่อมร้อยละ 60 และอายุมากกว่า 75 ปี มีภาวะข้อเสื่อมถึงร้อยละ 80 ซึ่งอาจจะไม่มีอาการแสดงก็ได้
สาเหตุ
มีการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนที่บุอยู่บนผิวข้อ กระดูก ซึ่งทำหน้าที่ลดแรงกระแทก เนื่องจากมีการ เปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างและสารเคมีภายในข้อ ในที่สุดทำให้ผิวข้อกระดูก 2 ด้านที่สึกกร่อนและขรุขระมีการเบียดหรือเสียดสีกันโดยตรง และเกิดการอักเสบ เรื้อรังภายในข้อกระดูก
ขณะเดียวกันก็เกิดกระบวนการซ่อมแซมของข้อทำให้มีหินปูนหรือปุ่มงอก (osteophytes) เกาะรอบ ๆ ผิวข้อซึ่งมีบางส่วนแตกหักหลุดเข้าไปในข้อ ขัดขวางการเคลื่อนไหวของข้อการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดดังกล่าวทำให้มีอาการปวดข้อ ข้อติด ข้อแข็ง และเคลื่อนไหวลำบาก
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของการเสื่อม ของข้อ เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น
- อายุและเพศ ภาวะข้อเสื่อมมักเกิดในผู้สูงอายุ
- ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือหลังวัยหมดประจำเดือน (เกี่ยวกับการพร่องฮอร์โมนเอสโทรเจน) แต่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี จะพบในผู้ชายมากกว่า
- กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคข้อเสื่อมชนิดหลายข้อหรือข้อเสื่อมตั้งแต่อายุน้อย มีโอกาสที่จะเกิดข้อเสื่อมได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีข้อนิ้วมือเสื่อม จะพบว่าสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้มากว่ากลุ่มที่มีข้อเข่าเสื่อม
- ความอ้วน ทำให้เกิดแรงกดดันต่อข้อเข่าและสะโพก เกิดการเสื่อมได้เร็วขึ้น
- การได้รับบาดเจ็บ (เช่น การวิ่ง การเล่นกีฬา) ที่มีการกระแทกต่อข้อเข่า
- การใช้ข้อมากหรือซ้ำ ๆ อยู่นาน ๆ เช่น การก้ม
- การนั่งงอเข่า การเดินขึ้นลงบันได การยืนนาน ๆ การยกของหนัก จะทำให้เกิดแรงกดดันต่อข้อต่อ เป็นเหตุให้ข้อเสื่อมได้
- กล้ามเนื้ออ่อนแอ เช่น กล้ามเนื้อต้นขา (quadriceps) อ่อนแอ อาจทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็ว
- เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรคปวดข้อรูมาตอยด์ เกาต์
- การติดเชื้อ
อาการ
ลักษณะที่พบได้ทั่วไปสำหรับโรคข้อเสื่อมไม่ว่าจะเกิดตรงตำแหน่งใดก็คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อติด (ข้อแข็ง) หรือขยับไม่ได้สุด อาการปวดข้อมีลักษณะค่อย เป็นค่อยไปและเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี โดยมักไม่พบลักษณะอักเสบ (บวมแดงร้อน) ของข้อชัดเจน และ ไม่มีไข้ อาการปวดข้อมักจะไม่รุนแรง จะปวดเวลามีการใช้ข้อและทุเลาเมื่อพัก
อาการข้อแข็งหรือข้อติด ขยับลำบาก มักเกิดขึ้นเวลาตื่นนอนตอนเช้า หรือเมื่อหยุดพัก ไม่ได้ใช้ข้ออยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งจะเป็นอยู่ไม่เกิน 30 นาที หลังจากมีการเคลื่อนไหวข้อก็จะทุเลาไปเอง
อาการปวดข้อและข้อติดมักจะเป็นเวลาอากาศเย็น ชื้น หรืออากาศเปลี่ยนแปลง เนื่องจากแรงดันในข้อมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ข้อที่เสื่อมแต่ละตำแหน่งยังมีลักษณะอาการเฉพาะดังนี้
- ข้อนิ้วมือเสื่อม ในระยะแรกจะมีอาการปวดและชาตามข้อ อาการปวดจะทุเลาไปได้เองภายใน1 ปี หลังเริ่มมีอาการและอาจกำเริบซ้ำหากมีการใช้ข้อมากเกิน นอกจากนี้มักเกิดปุ่มกระดูกที่ข้อต่อ เรียกว่า ปุ่ม เฮเบอร์เดน (Heberden node) ซึ่งไม่มีอาการเจ็บปวด แต่อาจทำให้จำกัดการเคลื่อนไหวของข้อ และทำให้ดูไม่สวยงาม
- ข้อกระดูกสันหลังเสื่อม จะมีอาการปวดที่ต้นคอหรือปวดหลังตรงกระเบนเหน็บ และอาจมีอาการปวดร้าวลงมาที่แขนหรือขา (โพรงกระดูกสันหลังแคบ และกระดูกคอเสื่อม”)
- ข้อสะโพกเสื่อม มักมีอาการปวดสะโพกอาจปวดร้าวไปที่ขาหนีบ ก้น หรือ เข่า เวลายืนหรือเดินนาน ๆ ขึ้นลงบันได และทุเลาเมื่อพัก ข้อสะโพกมีอาการติดขัดขยับได้ไม่เต็มที่
- ข้อเข่าเสื่อม (ซึ่งพบได้บ่อยในผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปี หรือคนอ้วน) อาจมีอาการที่เข่าเพียงข้างใด ข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ จะมีอาการปวดเข่าเวลาเคลื่อนไหวและทุเลาเมื่อพักจะปวดมากเวลายืนนานหรือเดินนานๆ เดินขึ้นลงบันได หรือเวลางอเข่า (เช่น นั่งยอง ๆ คุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ซึ่งทำให้ผิวข้อที่ขรุขระเบียดกันมากเกิดอาการปวดจนบางครั้งไม่สามารถงอเข่าได้) บางครั้ง อาจมีอาการปวดที่บริเวณต้นขาและน่อง เนื่องจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว เวลาเคลื่อนไหวข้อเข่าจะมีเสียงดังกรอบแกรบเนื่องจากมีการเสียดสีของผิวข้อที่ขรุขระ หรือ มีอาการติดขัดเนื่องจากปุ่มงอกที่หักหลุดเข้าไปขัดอยู่ในข้อ
ผู้ป่วยมักมีอาการข้อติดข้อแข็งหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือนั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ และหลัง จากขยับข้อหรือลุกเดินอาการจะทุเลาไปภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที
ระยะแรกจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ แล้วค่อย ๆ เป็นมากขึ้นจนในที่สุดจะปวดรุนแรงหรือปวดตลอดเวลา
เมื่อข้อเข่าเสื่อมรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการขาโก่งเดินไม่ถนัด เดินคล้ายขาสั้นขายาวข้าง เนื่องจากลงน้ำหนักไม่เต็มที่หรือเอนตัวเพราะเจ็บเข่าข้างหนึ่ง บางรายเดินกะเผลกหรือโยนตัวเอนไปมา หรืออาจงอและเหยียดเข่าลำบาก บางรายอาจมีกล้ามเนื้อขาลีบลง
ในรายที่มีกล้ามเนื้อรอบเข่าอ่อนแรง ก็จะมีอาการเข่าอ่อนทรุด อาจทำให้พลัดตกหกล้มได้
ข้อแนะนำ
1.โรคข้อเสื่อมแม้ว่าจะพบบ่อยในผู้สูงอายุ ปัจจุบันเชื่อว่ามีปัจจัยที่ทำให้ข้อเสื่อมร่วมกันหลายประการไม่ใช่เกิดจากการใช้งานมากหรือเสื่อมตมอายุเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะข้อเสื่อมจำนวนไม่น้อย (ซึ่งตรวจพบจากภาพถ่ายรังสี) จะไม่มีอาการแสดง ซึ่งไม่ จำเป็นต้องให้การรักษาใด ๆ
2.โรคนี้จะเป็นเรื้อรังตลอดไป ซึ่งจะมีอาการค่อยเป็นค่อยไปเป็นเวลาหลายปี และถ้าขาดการดูแลรักษา ก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนมีอาการปวดรุนแรงหรือปวดตลอดเวลา หรือข้อผิดรูป
3.เมื่อเริ่มมีอาการแสดงของโรคนี้ โดยเฉพาะอาการปวดข้อเข่า การรักษาที่สำคัญและปลอดภัยก็คือ การปฏิบัติตัวอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ทำให้ปวดข้อ (เช่น นั่งงอเข่า เดินขึ้นลงบันได หรือบนพื้นต่างระดับ) ลดน้ำหนัก และบริหาร กล้ามเนื้อรอบ ๆ
ข้อให้แข็งแรง เวลาปวดใช้น้ำอุ่นจัด ๆ หรือน้ำแข็งประคบ
4.ยาที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นยาบรรเทาอาการปวด ไม่ใช่ยารักษาเฉพาะ (ไม่ได้ช่วยให้ข้อที่เสื่อมฟื้นคืนปกติ) ควรเริ่มใช้ยาทาแก้ปวดข้อดูก่อน ถ้าไม่ได้ผลใช้พาราเซตามอลเป็นครั้งคราวเฉพาะเวลามีอาการปวด ถ้าไม่ได้ผลจึงเปลี่ยนเป็นยาบรรเทาปวดอื่น ๆ เช่น ทรามาดอล (อะมิทริปไทลีน) เป็นต้น
5.ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ยกเว้นมีอาการปวดรุนแรงหรือใช้ยาอื่นไม่ได้ผล และไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน อาจมีผลข้างเคียงร้ายแรงได้
ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ชนิดฉีดโดยไม่จำเป็น อาจทำให้เกิดภาวะช็อกจาก ปฏิกิริยาอะไฟแล็กตอยด์ (anaphylactoid reaction) หรือการติดเชื้อที่กล้ามเนื้อและเส้นเอ็น (myofasciitis)ได้
6.ควรแนะนำผู้ป่วยให้หลีกเลี่ยงการซื้อยาชุดหรือยาลูกกลอนมาใช้เอง เนื่องจากมักมียาสตีรอยด์ผสม เมื่อกินแล้วจะรู้สึกดี ทำให้ต้องกินติดต่อกันนาน ๆ จนอาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงจากสตีรอยด์ ที่สำคัญ คือ
โรคคุชชิง ภาวะต่อมหมวกไตบกพร่องเฉียบพลัน (ช็อก) และภาวะติดเชื้อรุนแรงถึงขั้นโลหิตเป็นพิษ
7.ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายที่ไม่ลงน้ำหนักมาก เช่น เดินเร็ว ๆ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เป็นต้น แต่ควรใส่รองเท้าที่มีคุณสมบัติลดแรงกระแทก
Ambulance call
1669
Available 24 Hours
Are you five-star healthcare provider?
list your practice
to reach million of patient