โรคลมชัก (Seizures/Epilepsy)
ลมบ้าหมู (Grand mal)
โรคลมชัก เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งทีเกี่ยวกับการทำหน้าที่ผิดปกติของสมอง ทำให้เกิดอาการหมดสติเคลื่อนไหวผิดปกติ รับสัมผัสความรู้สึกแปลก ๆ หรือมีพฤติกรรมผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นฉับพลัน เป็นอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็กลับ หายเป็นปกติได้เอง แต่มักจะมีอาการกำเริบซ้ำเป็นครั้งคราว แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคลมชักต่อเมื่อพบว่ามีอาการกำเริบตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป การชักเพียงครั้งเดียวอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และหายขาดตลอดไป แพทย์จะไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักโรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 0.5-1 ของประชากรทั่วไปพบได้ในคนทุกอายุ แต่มักจะพบเป็นครั้งแรกในเด็กอายุต่ำกว่า15 ปี และคนอายุมากกว่า 60 ปี
ในปัจจุบันมีการแบ่งโรคลมชักออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
โรคลมชักเฉพาะส่วน (partial seizures) และ
โรคลมชักทั่วไป (generalized seizures) แต่ละกลุ่ม ยังแบ่งเป็นชนิดย่อย ๆ ออกไปอีกหลายชนิดในที่นี้จะกล่าวอย่างละเอียดเฉพาะ
โรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัวหรือแกรนด์มาล (tonic clonic seizures หรือ grand mal) ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคลมชักทั่วไปจะมีอาการชักร่วมกับหมดสติ (ตรงกับที่คนไทยเรียกว่าลมบ้าหมู) โรคลมชักชนิดนี้จัดว่าเป็นชนิดที่พบได้บ่อยมีความรุนแรงและมีอันตรายมากกว่าชนิดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากลายเป็นโรคลมชักต่อเนื่อง (status epilep ticus) มีโอกาสเสียชีวิตและพิการค่อนข้างสูง
สาเหตุ
ปกติการทำหน้าที่ของสมองอาศัยการปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าของเซลล์ทุกส่วนอย่างมีระเบียบและสอดประสานอย่างสมดุล แต่บางคนอาจมีการปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างผิดปกติของเชลล์สมอง กระตุ้นให้เกิดอาการของโรคลมชักลักษณะต่าง ๆทั้งนี้ขึ้นกับตำ-แหน่งและปริมาณของเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ผิดปกติ
ในกลุ่มผู้ป่วยโรคลมชักเฉพาะที่จะเริ่มจากเชลล์สมองส่วนเล็ก ๆ เพียงส่วนเดียวที่ปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างผิดปกติ ซึ่งยังจำกัดวงอยู่เพียงส่วนนั้น หรือ อาจกระจายไปทั่วสมอง กลายเป็นโรคชักทั่วไป เรียกว่า โรคลมชักทั่วไปแบบทุติยภูมิ (secondary general Ized seezures)ในเวลาต่อมาก็ได้ส่วนในกลุ่มผู้ป่วยโรคลมชักทั่วไป จะมีการปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างผิดปกติขึ้นในเซลล์สมองพร้อมกันทั่วทั้งสมองตั้งแต่แรก เรียกว่า
โรคลมชักทั่วไปแบบปฐมภูมิ (primary generalized seizures)
โรคลมชักกว่าร้อยละ50จะเกิดขึ้นโดยตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจน เรียกว่า
โรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic seizures) เชื่อว่ามีความพร่องของสารเคมีบางอย่างในการควบคุมกระแสไฟฟ้าในสมอง โดยที่โครงสร้างของสมองเป็นปกติดี ทำให้การทำหน้าที่ของสมองสูญเสียความสมดุล เกิดอาการลมชักขึ้นโรคลมชักชนิดนี้ส่วนใหญ่มักพบมีอาการครั้งแรกในคนอายะ 5-20 ปี และเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางกรรรมพันธุ์ (มักมีประวัติโรคลมชักในครอบครัว)
ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนหนึ่งจะตรวจพบสาเหตุชัดเจนเรียกว่า โรคลมชักชนิดทราบสาเหตุ (symptomatic seizures) ซึ่งมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปีที่เริ่มชักเป็นครั้งแรก มีสาเหตุตามกลุ่มอายุดังนี้
- อาการชักในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจมีสาเหตุจากไข้ โรคติดเชื้อในสมองสมองพิการความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด สมองได้รับการกระทบกระเทือนระหว่างคลอด หรือมีภาวะบางอย่างที่กระทบต่อสมอง เช่น ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นต้น
- ในวัยทำงานหรือวัยกลางคน อาจเกิดจากโรคพิษสุรา ยาเสพติด การใช้ยาเกินขนาด
- ในผู้สูงอายุอาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง โรคสมองเสื่อม ไตวาย หรือตับวายระยะท้าย ความดันโลหิตสูงชนิด ร้ายแรง
- ในคนทุกวัยอาจเกิดจากโรคติดเชื้อ(เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง) เนื้องอกสมอง ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เลือดออกในสมอง เป็นฝีหรือพยาธิในสมอง ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดสมองภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ พิษจากยาเกินขนาด (เช่น ยาชาลิโดเคน ยาแก้ซึมเศร้า ที่โอฟิลลีน เป็นต้น
- ในหญิงตั้งครรภ์อาจเกิดจากครรภ์เป็นพิษ
อาการ
สำหรับโรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (ลมบ้าหมู) ผู้ป่วยอยู่ดี ๆ ก็มีอาการหมดสติ เป็นลมพับ กับพื้นทันทีพร้อมกับมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งทั้งตัว หายใจลำบาก หน้าเขียว ซึ่งจะเป็นอยู่นานไม่กี่วินาทีถึง 20 วินาทีต่อมาก็จะมีอาการชักกระตุกของกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเป็นระยะ ๆ และมีอาการตาค้าง ตาเหลือก ในระยะแรกมักจะถี่แล้วค่อย ๆ ลงลงตามลำดับ จนกระทั่งหยุดกระตุก ในช่วงนี้จะมีอาการน้ำลายฟูมปาก และอาจ มีเลือดออก (จากการกัดริมฝีปากหรือลิ้นตัวเอง) อาจมีอาการปัสสาวะหรืออุจจาระราดร่วมด้วย
อาการชักจะเป็นอยู่นาน1-3 นาที แล้วพื้นสติตื่นด้วยความรู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย บางรายอาจม่อยหลับไปนานเป็นชั่วโมง ๆ
ผู้ป่วยมักจำไม่ได้ว่าตัวเองล้มลง
หลังจากม่อยหลับและตื่นขึ้นมาแล้ว อาจมีอาการปวดศีรษะ มึนงง สับสน อ่อนเปลี้ยเพลียแรง หาวนอน ลืมตัว และอาจทำอะไรที่ตัวเองจำไม่ได้ในภายหลัง
สำหรับผู้ที่เป็นโรคลมชักแบบทุติยภูมิ คือ กลายมาจากโรคลมชักเฉพาะส่วน จะมีอาการเตือน หรือออรา(aura) นำมาก่อนจะหมดสติ เช่น แขนหรือขาชาหรือกระตุกเพียงข้างหนึ่ง หรืออาจเห็นแสงวาบ ได้กลิ่น รส หรือได้ยินเสียงแปลก ๆ หรือมีความรู้สึกกลัวโดยไม่มีเหตุผล เป็นต้น ซึ่งก็คือ อาการของ “โรคลมชักเฉพาะส่วนแบบธรรมดา” นั้นเอง
ผู้ป่วยอาจเกิดอาการชักในเวลากลางวัน หรือหลังเข้านอนตอนกลางคืนก็ได้ บางครั้งเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุกระตุ้น บางครั้งก็พบสาเหตุที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยชัก เช่น อดนอน หิวข้าว กินอาหารมากเกินไป ทำงานเหนื่อยเกินไปคิดมาก ดื่มแอลกอฮอล์ กินยากระตุ้นประสาทท้องผูก มีประจำเดือน มีไข้สูง อยู่ในที่ ๆ มีเสียงอึกทึก หรือแสงจ้า หรือแสงวอบแวบ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ การหายใจเข้าออกเร็ว ๆ เป็นต้น
โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการชักอยู่เพียง 1-3 นาที (บางรายอาจนาน 5 -15 นาที) ก็จะหยุดชัก และฟื้นสติตื่นขึ้นแต่บางครั้งอาจเป็น
โรคลมชักต่อเนื่อง (status epilepticus) ซึ่งเป็นภาวะอันตรายร้ายแรง ผู้ป่วยจะชักต่อเนื่องรวดเดียว นานกว่า 20 นาที (ในเด็ก) หรือ 30 นาที
(ในผู้ใหญ่) หรืออาจชักซ้ำ ๆ หลายครั้งติด ๆ กันโดยมีช่วงหยุดชักเป็นพัก ๆ โดยที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการฟื้นสติตื่นขึ้นแม้ในระหว่างช่วงหยุดชัก ภาวะนี้มักพบในผู้ป่วยที่เคยกินยารักษาโรคลมชักมาก่อนแล้วขาดยา (หยุดกินยา) ทันทีแต่ถ้าเป็นการชักครั้งแรก ภาวะนี้ก็อาจเป็น
โรคลมชักชนิดทราบสาเหตุ เช่น โรคติดเชื้อของสมอง เนื้องอกสมอง สมองพิการ ตกเลือดในสมอง พิษยาเกินขนาด ภาวะถอนแอลกอฮอล์ในผู้ป่วยที่ติดแอลกอฮอล์
ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น
ข้อแนะนำ
1.ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุส่วนใหญ่มีทางรักษาให้หายขาดได้ หรือสามารถใช้ยาควบคุมไม่ให้เกิดการชักได้ แต่ต้องกินยาติดต่อกันนานเป็นปี ๆ บางรายอาจต้องกินยาไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยควรไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
2.การใช้ยารักษา ควรปฏิบัติดังนี้
- กินยากันชักทุกวัน ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ ควรทำบันทึกการกินยาและการนัดของแพทย์เพื่อ กันลืม
- อย่าหยุดยา หรือปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือ ซื้อยากินเอง
- ถ้าลืมกินยาไปเพียงมื้อเดียวหรือวันเดียว ให้เเริ่มกันในมื้อต่อไปตามปกติ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดอื่นร่วมกับยากันชักโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะยาบางชนิดอาจต้านฤทธิ์ยากันชัก ทำให้อาการชักกำเริบได้ บางชนิดอาจเสริมฤทธิ์ยากันชัก ทำให้เกิดพิษขึ้นได้
- ควรสังเกตผลข้างเคียงที่เกิดจากยากันชักเช่น อาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน เดินเซ ผื่นคัน ผิวหนังผุพอง เหงือกบวม ดีซ่าน มีไข้ เป็นต้น ถ้าพบควร แจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม บางกรณีแพทย์อาจต้องทำการตรวจเลือดประเมินผลข้างเคียงต่อตับ ไต เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวเป็นระยะ
- ยากันชักบางชนิดอาจต้านฤทธิ์ยาเม็ดคุมกำเนิด ทำให้คุมกำเนิดไม่ได้ผล บางชนิดอาจมีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการหรือแท้งได้ ผู้ป่วยที่กินยาคุมกำเนิด หรือมีแผนที่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้การดูแลที่เหมาะสมต่อไป เช่น ในรายที่กินยาโซเดียมวาลโพรเอต หรือคาร์บามาซีพีน แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดกรดโฟลิก (folic acid) ขนาด 1 มก./วัน ตั้งแต่ระยะก่อนตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการ เกิดความพิการทางระบบประสาท (neural tube defect)
- หากตั้งครรภ์ หรือเจ็บป่วยอย่างอื่น ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบ และนำยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย
- ในกรณีเปลี่ยนสถานที่รักษา ควรนำประวัติและยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย
3.เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจนควบคุมโรคได้แล้ว ผู้ป่วยสามารถทำงาน เรียนหนังสือ เล่นกีฬาหรือออกสังคมได้ตามปกติ รวมทั้งสามารถแต่งงานได้
4.ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย เพื่อความปลอดภัยและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการชัก ผู้ป่วยควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่าอดนอน อย่าทำงาน เหนื่อยเกินไปอย่าใช้ความคิดมากหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนทางจิตใจ อย่าอดอาหาร ระวังอย่าให้ท้องผูกห้ามดื่มแอลกอฮอล์หรือกินยากระตุ้นประสาท อย่าเข้า ไปในที่ ๆ มีเสียงอึกทึก หรือมีแสงจ้า แสงงอบแวบ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการกระทำและสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย เช่น ว่ายน้ำ ปีนขึ้นที่สูงอยู่ใกล้ ไฟ ใกล้น้ำ ทำงานกับเครื่องจักร ขับรถ ขับเรือ เดินข้ามถนนตามลำพัง เป็นต้น
ถ้าจำเป็นต้องว่ายน้ำ ควรมีคนอื่นอยู่ด้วยตลอดเวลา
ในบางประเทศอนุญาตให้ผู้ป่วยมีใบขับขี่ได้เมื่อปลอดจากอาการชักแล้วอย่างน้อย 1 ปี
5.ผู้ป่วยควรเปิดเผยให้เพื่อนที่ทำงานหรือที่โรงเรียนทราบถึงโรคที่เป็น เพื่อว่าเมื่อเกิดอาการชักจะได้ไม่ตกใจ และหาทางช่วยเหลือให้ปลอดภัยพ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงควรมีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของโรคและวิธีช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่ควรแสดงความรังเกียจควรให้กำลังใจผู้ป่วยและให้เข้าร่วมกิจกรรมในชีวิตประจำวันเช่นคนอื่นๆ
6.อาการชักอาจมีสาเหตุได้หลากหลาย ควรวินิจฉัยแยกแยะให้แน่ชัดก่อนจะสรุปว่าเป็นโรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ อาจเกิดจากความผิดปกติทางสมอง ส่วนในวัยรุ่นหรือวัยทำงานอาจเกิดจากพิษแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด
Ambulance call
1669
Available 24 Hours
Are you five-star healthcare provider?
list your practice
to reach million of patient