อาการ
มีลักษณะเฉพาะ คือ มีอาการปวดท้อง มีลมในท้องร่วมกับท้องเดิน ท้องผูก หรือท้องเดินสลับท้องผูกเป็นๆ หายๆ เป็นแรมปี อาการเหล่านี้อาจเป็นต่อเนื่องทุกวันหรือเป็นบางวันหรือบางช่วง ซึ่งนับรวมๆ กันแล้วเป็นเวลามากกว่า 12 สัปดาห์ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา อาการจะมีลักษณะและความรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละคน หรือแต่ละช่วงเวลา ส่วนน้อยที่จะมีอาการมากจนผู้ป่วยต้องไปปรึกษาแพทย์
อาการปวดท้องมีลักษณะไม่แน่นอนอาจปวดบิดเกร็งเป็นพักๆ ปวดตื้อๆ ปวดแปลบๆ หรือแน่นอึดอัด ไม่สบายท้อง ส่วนใหญ่จะปวดบริเวณท้องน้อยข้างซ้าย (บางรายอาจปวดทั่วท้อง) อาการจะทุเลาทันทีหลังถ่ายอุจจาระหรือผายลม
ผู้ป่วยมักมีลมในท้องมาก ท้องอืด เวลาถ่ายอุจจาระมักมีลมออกมาด้วย
ในรายที่มีอาการท้องเดินเป็นอาการเด่น จะมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวบ่อย (มากกว่า 3 ครั้ง/วัน) โดยมักมีอาการปวดท้องอยากถ่ายทันทีหลังกินอาหาร โดยเฉพาะมื้อที่กินอาหารหลังปล่อยให้ท้องว่างมานาน (เช่น มื้อเช้า) กินอาหารมาก กินเร็วๆ หรือกินอาหารชนิดที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ผู้ป่วยจะปวดท้องถ่ายแบบกลั้นไม่อยู่ ต้องเข้าห้องน้ำทันที บางรายอาจมีอาการเหมือนถ่ายอุจจาระไม่สุด อยากถ่ายบ่อยๆ ทั้งๆ ที่เพิ่งถ่ายไปไม่นาน โดยทั่วไปมักถ่าย 1–3 ครั้งหลังอาหารบางมื้อ แล้วหายเป็นปกติ อาการไม่รุนแรง ไม่มีคลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีภาวะขาดน้ำและส่วนใหญ่หลังเข้านอนแล้วมักจะไม่ต้องลุกขึ้นมาถ่ายอุจจาระจนกระทั้งรุ่งเช้า
ในรายที่มีอาการท้องผูกเป็นอาการเด่นจะมีอาการถ่ายอุจาระน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็งขนาดเล็ก
ถ่ายลำบาก ต้องออกแรงเบ่ง และมีอาการปวดปิดในท้องร่วมด้วย
บางรายอาจมีอาการท้องเดินสลับท้องผูกเป็นช่วงๆ
ประมาณครึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายมีมูกปนออกมากับอุจจาระ มูกนี้คือน้ำเมือก (mucus) ปกติที่เยื่อบุลำไส้หลั่งออกมาเพื่อให้ความชุ่มชื้น และปกป้องผิวลำไส้ ไม่มีกลิ่นเหม็น และไม่มีเลือดปน
บางรายอาจมีอาการปวดท้อง มีลมในท้อง โดยไม่มีอาการท้องเดินหรือท้องผูกร่วมด้วยก็ได้ คล้ายอาการอาหารไม่ย่อย หรือโรคกระเพาะอาหาร
ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบหรือรุนแรงขึ้น เนื่องจากสิ่งกระตุ้น ได้แก่
- ความเครียดทางจิตใจ วิตกกังวล ซึมเศร้า
- อาหารบางชนิด เช่น นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารเผ็ดจัด มันจัด กะทิ แอลกอฮอล์ ชา กาแฟซ็อกโกแลต แยม ผลไม้ น้ำหวาน น้ำผึ้ง หมากฝรั่ง โคล่าน้ำโซดา น้ำอัดลม เป็นต้น
- อาหารมื้อหนัก (กินปริมาณมาก) หรือกินอาหารหลังปล่อยให้ท้องว่างมานาน หรือกินอาหารเร็วๆ
- ยาบ้างชนิดที่มีผลข้างเคียงทำให้ท้องผูกหรือท้องเดิน
- ขณะมีประจำเดือน
- การติดเชื้อแบคทีเรียในลำไส้
นอกจานี้ ผู้ป่วยอาจมีภาวะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคกังวลทั่วไป โรคซึมเศร้า อาหารไม่ย่อย ไมเกรน อาการปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดประจำเดือน ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นไม่ได้ นอนไม่หลับ เป็นต้น
การรักษา
1. ถ้ามีอาการเข้าเกณฑ์การวินิจฉัยโรคลำไส้แปรปรวน ควรซักถามประวัติอาการของผู้ป่วยอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ (หากผู้ป่วยยังไม่ทราบชัดเจน แนะนำให้สังเกตและบันทึกไว้เมื่อมีอาการกำเริบใหม่) แล้วแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัว ดังนี้
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ฝึกโยคะ รำมวยจีน ฝึกสมาธิ สวดมนต์ หรือผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีความเครียดเป็นเหตุกำเริบ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นเหตุกำเริบ (เช่น นมอาหารเผ็ดจัด อาหารมัน แอลกอฮอล์ ชา กาแฟ เป็นต้น) กินอาหารช้าๆ กินอาหารพออิ่ม หรือมื้อละน้อยแต่บ่อยขึ้น
- หลีกเลี่ยงยาที่มีผลให้เกิดอาการท้องผูกหรือท้องเดิน
- ดื่มน้ำมากๆ (ประมาณวันละ 8 – 12 แก้ว) และกินอาหารที่มีกากใย (ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช)ให้เพียงพอ
สำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกควรเพิ่มกากใยให้มากขึ้น ถ้าไม่ได้ผลให้กินสารเพิ่มกากใย
สำหรับผู้ที่มีอาการท้องเดิน ระวังอย่าให้กากใยมากเกิน อาจทำให้ถ่ายท้องมากขึ้น
2. ถ้ายังไม่ได้ผลหรือมีอาการมากจนมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ควรให้ยาบรรเทาตามอาการเป็นครั้งคราว เช่น ให้แอนติสปาสโมดิก สำหรับอาการปวดบิดท้อง โลเพอราไมด์สำหรับอาการท้องเดิน ยาระบายสำหรับอาการท้องผูก ยาทางจิตประสาท สำหรับอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือนอนไม่หลับ เป็นต้น
3.
ถ้ามีอาการรุนแรง น้ำหนักลด ถ่ายเป็นเลือดสดหรือถ่ายดำ ซีด มีไข้ ท้องเดินอย่างต่อเนื่องทุกวันนานเกิน 1 สัปดาห์ ท้องผูกรุนแรง ลุกขึ้นถ่ายหลังนอนหลับตอนกลางคืน มีประวัติของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัวหรือเริ่มมีอาการครั้งแรกเมื่อมีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือสงสัยจะเกิดจากสาเหตุอื่น หรือให้ยาบรรเทาไม่ได้ผล ควรแนะนำผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาจต้องตรวจอุจจาระ การตรวจเอกซเรย์ บางรายอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ (sigmoidoscopy‚ colonoscopy) เพื่อหาสาเหตุ โดยเฉพาะโรคร้ายแรง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่
ถ้าตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ ก็จะให้การรักษาแบบโรคลำไส้แปรปรวน
หากให้ยาไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆ ก็จะให้การรักษาแบบโรคลำไส้แปรปรวน
หากให้ยาขั้นพื้นฐานบรรเทาอาการไม่ได้ผล หรือมีอาการรุนแรง อาจพิจารณาให้ยาชนิดใหม่ๆ เช่น อะโลซีทรอน (alosetron) สำหรับผู้ป่วยที่มีท้องเดินเป็นอาการเด่น หรือเทกาซีรอด (tegaserod) สำหรับผู้ป่วยที่มีท้องผูกเป็นอาการเด่น ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ใช้ได้ผลดีสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ไม่แนะนำให้ใช้กับผู้ชายและควรระมัดระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
ในรายที่มีภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้าร่วมด้วยอาจต้องปรึกษาจิตแพทย์เพื่อให้ยาทางจิตประสาท และทำจิตบำบัด
Ambulance call
1669
Available 24 Hours
Are you five-star healthcare provider?
list your practice
to reach million of patient